วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ขุนรองปลัดชู


ขุนรองปลัดชู

ที่ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีวัดหนึ่งชื่อน่าสนใจว่า “วัดสี่ร้อย” แต่เรื่องราวความเป็นมาของวัดนี้ ยังน่าสนใจกว่านั้น
       
       วัดสี่ร้อยเป็นวัดเก่า สร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวบ้านบางจักร่วมใจกันสร้างสดุดีวีรกรรมของกองอาทมาต ซึ่งเป็นชาวบางจัก แต่ไปสร้างวีรกรรมไว้ที่เมืองกุย หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน
       
       เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี ๒๓๐๒ เมื่อพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นของไทย พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาจึงส่งพระยารัตนาธิเบศร์ จตุสดมภ์วัง เป็นแม่ทัพ คุมกำลัง ๕,๐๐๐ คนไปรับมือพม่า โดยมีพระราชรองเมือง นำกำลังอีก ๓,๐๐๐ คนเป็นทัพหน้า
       
       กรุงศรีอยุธยายามนั้นอ่อนแอถึงที่สุด เพราะช่วงชิงราชบัลลังก์แก่งแย่งอำนาจกันมาตลอด กำจัดฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีขุนนางที่มีความสามารถเหลืออยู่ในราชการ อีกทั้งพระเจ้าเอกทัศน์ก็ไร้ความเป็นผู้นำ แม่ทัพนายกองที่ส่งไปปกป้องประเทศในครั้งนี้ ไม่มีใครเคยออกศึกมาก่อนเลย ไม่รู้ว่าการรบนั้นเขาทำกันอย่างไร
       
       คงจะเห็นความอ่อนแอของกองทัพที่ไปขับไล่ข้าศึกเช่นนี้ ขุนรองปลัด (ชู) กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งเป็นผู้มีวิทยาอาคมขลัง และมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย จึงได้รวบรวบคนที่อยู่ยงคงกระพันได้ ๔๐๐ คน ซึ่งเป็นคนจากบางจัก อาสาออกไปขับไล่พม่าในครั้งนี้ด้วย พระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดแต่งตั้งขึ้นเป็นกองอาตมาท ร่วมไปกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์
       
       ทัพหน้าของพระราชรองเมืองยกข้ามเทือกเขาบรรทัดไปถึงด่านสิงขร ก็ทราบว่าพม่ายึดเมืองมะริดและตะนาวศรีไปแล้ว จึงตั้งทัพอยู่แค่แก่งตุ่ม ตอนปลายของแม่น้ำตะนาวศรี ไม่ได้ไปตีพม่าแต่อย่างใด อีกทั้งการตั้งทัพก็ไม่ได้ตั้งค่าย อาจจะเป็นเพราะตั้งไม่เป็นก็ได้ ส่วนทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ก็ตั้งอยู่ที่เมืองกุย
       
       เมื่อพระเจ้ามังระรู้ว่ากองทัพไทยมาตั้งอยู่ที่แก่งตุ่ม จึงส่งทหารมาตี กองทัพของพระราชรองเมืองซึ่งไม่มีค่ายป้องกันตัวจึงแตกพ่ายโดยง่าย ถอยกลับเข้ามา พระยารัตนาธิเบศร์จึงสั่งให้ขุนรองปลัดชูนำกองกำลังคงกะพันไปช่วยกองทัพของพระราชรองเมือง
       
       ขณะที่กองอาทมาต ๔๐๐ คนเข้าตะลุมบอนกับกองทัพพม่า ๘,๐๐๐ คนนั้น ทัพของพระยารัตนาธิเบศร์และของพระราชรองเมืองก็ไม่ได้เข้าช่วย ปล่อยให้กองอาทมาตสู้ข้าศึกที่กำลังเหนือกว่าหลายเท่าอย่างโดดเดี่ยว แต่คนใจสู้ทั้ง ๔๐๐ ก็สู้อย่างสุดชีวิต ไม่ได้หวั่นว่าข้าศึกจะถาโถมเข้ามามากเท่าใด
       
       แม้กองอาทมาต ๔๐๐ คนจะเชื่อมั่นในความอยู่ยงคงกะพันของตัว และมีกำลังใจที่กล้าแกร่ง แต่ข้าศึกที่ถาโถมเข้ามาจนฆ่าฟันเท่าไรก็ไม่หมดเสียที สู้กันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง แม้กำลังใจยังสู้ แต่กำลังกายก็อ่อนล้าลง ทหารพม่าถูกฆ่าจนขยาดจึงปล่อยทัพช้างเข้าลุย กองอาทมาตที่อ่อนล้าถูกต้อนไปจมมุมที่ชายหาดของอ่าวหว้าขาว แล้วถูกทัพช้างลุยจนตกทะเล ในที่สุดทั้ง ๔๐๐ ชีวิตก็ต้องดับสูญไปในการปกป้องผืนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน
       
       พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบัน ทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
       
       “...ฝ่ายทัพน่าพม่ายกมาถึงที่นั้นพอเพลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูก็แต่งตัวกับพลทหารทั้งนั้น ก็กรูกันออกโจมตีพม่า รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายเปนอันมาก แลตัวขุนรองปลัดชูนั้นถือดาบสองมือวิ่งเข้าในท่ามกลางศึก ฟันพม่าล้มตายไปก่ายกันดังขอนไม้ แต่รบกันอยู่แต่เช้าจนเพลาเที่ยง พลพม่ามากกว่าหลายเท่าไม่ท้อถอย เยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้ามาต่อรบ จนขุนรองปลัดชูเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลังลงพม่าจับเปนไปได้ แล้วให้พลทัพช้างขับช้างเข้าย่ำยีพลทหารไทยล้มตายเปนอันมาก ไล่กันลงไปในชเล จมน้ำตายบ้างปลากินเสียบ้าง ที่รอดหนีกลับนั้นได้น้อย มาแจ้งความแก่พระยารัตนาธิเบศ ๆก็ตกใจกลัวไม่อยู่สู้รบ เร่งเลิกทัพหนีมากันทั้งทัพ...”
       
       การสละชีวิตทั้ง ๔๐๐ ชีวิตของกองอาทมาตครั้งนี้ เป็นวีรกรรมที่ทำให้คนไทยชื่นชมยกย่อง โดยเฉพาะชาวบางจักที่มีญาติพี่น้องอยู่ในกองนี้ จึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดหนึ่งขึ้นที่บางจัก เพื่อเตือนความจำให้ระลึกถึง และอุทิศส่วนกุศลให้ ๔๐๐ ชีวิตของกองอาทมาต ให้ชื่อว่า “วัดสี่ร้อย” และสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นในวัดด้วย เพื่อเป็นที่รวมวิญญาณของเหล่าอาทมาตทั้ง ๔๐๐ นาย
       
       ในวัดสี่ร้อยยังมีสิ่งสะดุดตาอีกอย่างก็คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางป่าลิไลยก์ จำลองมาจากหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี ที่น่าแปลกก็คือพระพักตร์ท่านดูเศร้าหมอง และพระพุทธรูปองค์นี้เคยมีปาฏิหาริย์น้ำพระเนตรไหล มีโลหิตออกมจากพระนาสิก เมื่อมีเหตุอาเพศหลายครั้ง เช่นเมื่อคราวที่พระสงฆ์และชาวบ้านทะเลาะกันในพิธีบวงสรวงเปิดอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชูเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จึงเรียกหลวงพ่อโตวัดสี่ร้อยว่า “หลวงพ่อร้องไห้”
       
       อีกทั้งชาวบางจักยังเชื่อว่า วีรกรรมของรองปลัดชูและกองอาทมาตในครั้งนี้ น่าจะสร้างความฮึกเหิมให้ชาววิเศษไชยชาญ ชาวเมืองสิงห์ ชาวสุพรรณบุรี ตลอดจนชาวบ้านในย่านนี้ รวมตัวกันต่อสู้กับพม่า จนเกิดวีรกรรมค่ายบางระจันขึ้น
       
       อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชูที่วัดสี่ร้อย ซึ่งมีแท่น ๗ เหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งมีข้อความจารึกไว้ว่า
       
       “เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว
       ตราบที่ลมหายใจยังมีอยู่
       ชีวิตนี้กูขออุทิศ เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินสยาม
       กูจักสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว”
       
       และอีกด้านหนึ่ง จารึกข้อความจากความเชื่อของชาววิเศษชัยชาญ ที่ว่า
       
       หากไม่มีวีรกรรม
       ของขุนรองปลัดชู
       ก็จะไม่มีวีรกรรม
       ของชาวบ้านบางระจัน 




แหล่งข้อมูล https://www.manager.co.th

การก่อการร้ายทางนิวเคลียร์และรังสี

การกำหนดภัยคุกคาม การยึดอาวุธนิวเคลียร์แบบไม่บุบสลาย ผู้เชี่ยวชาญมักจำแนกการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์และรังสีออกเป็นภัยคุกคามสี่ปร...