หลักนิยม
หลักนิยมพื้นฐานในการต่อสู้ของกองทัพบกยุคปัจจุบันนี้ เรียกว่า หลักนิยมการรบอากาศพื้นดิน (AirLand Battle) เกิดจากหลักการพื้นฐานที่ใช้เวลาในการพิสูจน์มานับเป็นเวลายาวนาน โครงสร้างของการสงครามสมัยใหม่ และบทเรียนจากการรบ หลักนิยมการรบอากาศพื้นดินนี้เอง ได้ก่อให้เกิดภารกิจเฉพาะเหล่า (a specific mission) สำหรับทหารราบยุคปัจจุบันด้วย
หลักการพื้นฐาน
ในบรรดาหลักการพื้นฐานต่าง
ๆ ที่ทหารราบถือเป็นแนวทางนั้นคือ หลักการสงคราม องค์ประกอบของอำนาจกำลังรบ
และหลักนิยมการรบอากาศพื้นดิน ในตอนที่ ๑
นี้ จะกล่าวถึงภารกิจของเหล่าทหารราบ และการใช้หลักนิยมในขั้นพื้นฐานสำหรับหมวด
และหมู่ปืนเล็ก ซึ่งการใช้หลักนิยมดังกล่าวนี้ทำให้เกิดยุทธวิธี เทคนิค
ระเบียบปฏิบัติ และการฝึกปฏิบัติสำหรับหน่วยทหารราบระดับหมวด และหมู่ปืนเล็ก นอกจากนั้นในตอนที่ ๑ นี้
จะกล่าวถึงรายละเอียดเรื่ององค์ประกอบของอำนาจกำลังรบ
รวมทั้งทักษะที่จำเป็นต้องมีสำหรับผู้บังคับหน่วย
และทหารเป็นบุคคลในหน่วยทหารขนาดเล็กอีกด้วย
๑ - ๑ ภารกิจ
ภารกิจของทหารราบ คือ เข้าประชิดข้าศึก ด้วยการยิงและการดำเนินกลยุทธ์ เพื่อเอาชนะ หรือจับข้าศึกเป็นเชลย หรือเพื่อขับไล่การโจมตีของข้าศึกด้วยการยิง การรบประชิด หรือการตีโต้ตอบ
ก. ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเหนือกว่าหรือด้อยกว่าทางด้านเทคโนโลยีเพียงใดก็ตาม ฝ่ายที่เหนือกว่าในด้านการรบประชิดด้วยกำลังทางพื้นดินเท่านั้น ที่จะได้ชัยชนะเด็ดขาดในการรบ กำลังทหารราบไม่ว่าจะเป็นทหารราบมาตรฐาน ทหารราบส่งอากาศ ทหารราบเคลื่อนที่ทางอากาศ ทหารราบเบา หรือทหารราบจู่โจม ล้วนแต่เป็นกำลังหลักในการรบประชิดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะทหารราบสามารถ
- เข้าตีตามแนวทางเคลื่อนที่ที่กำลังขนาดใหญ่ (heavy forces)อื่นๆ ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
- เป็นหน่วยเริ่มเข้าตีเจาะในภูมิประเทศที่ยากลำบาก เพื่อการขยายผลของหน่วย รถถังหรือทหารราบยานเกราะต่อไป
- ยึดรักษาสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติที่มีอยู่ และภูมิประเทศที่ยากลำบากที่มีความสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ ทั้งในระดับยุทธการและยุทธวิธี
- ยึดหรือควบคุมพื้นที่ป่า ภูเขา และพื้นที่สิ่งปลูกสร้างได้
- ควบคุมเส้นทางบังคับสำหรับให้หน่วยฝ่ายเดียวกันใช้ในอนาคต
- ปฏิบัติการในเวลากลางคืน หรือในห้วงเวลาทัศนวิสัยจำกัด ไม่ว่าโดยธรรมชาติ หรือสร้างขึ้นก็ตาม
- เคลื่อนที่ติดตามและสนับสนุนการขยายผลของหน่วยใหญ่ เมื่อได้รับการเพิ่มเติมขีดความสามารถในการเคลื่อนย้าย
- ปฏิบัติการรบในพื้นที่ส่วนหลังโดยอาศัยความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ทางอากาศ
ข. ความสำเร็จในการรบ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของหน่วยระดับหมวดและหมู่ในการรบประชิด กล่าวคือความสามารถในการตอบโต้เมื่อเกิดการปะทะ การยิงข่มข้าศึก การดำเนินกลยุทธ์ต่อปีกที่ล่อแหลมของข้าศึก และการรบทะลุลวงเข้าเอาชนะ ทำลายหรือจับข้าศึกเป็นเชลย ส่วนความสำเร็จในการปฏิบัติของหน่วยขนาดเล็กนั้น ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้บังคับหน่วยและตัวทหารเป็นบุคคลในการใช้ภูมิประเทศให้ได้เปรียบ การใช้อาวุธได้อย่างแม่นยำและมีผลทำลายล้างสูง ทั้งนี้ด้วยการคิด เคลื่อนที่ และใช้วิธีรบในลักษณะที่ข้าศึกคาดไม่ถึง
ค. โดยปกติแล้ว หมวด และหมู่ปืนเล็ก จะปฏิบัติการรบเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยใหญ่ และอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยทหารราบด้วยกัน หน่วยยานเกราะ ปืนใหญ่ เครื่องยิงลูกระเบิด การสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด การป้องกันภัยทางอากาศ และเครื่องมือทางการช่าง นอกจากนี้หมวด และหมู่ปืนเล็กยังสามารถใช้อาวุธภายในหน่วยทำการยิงข่มข้าศึก ทั้งเพื่อขับไล่การโจมตีของข้าศึก และเพื่อสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ของหน่วยเอง
๑ - ๒ อำนาจการรบ
หลักนิยมของทหารราบนั้น ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานมาจาก องค์ประกอบ ๔ ประการ ของอำนาจกำลังรบ ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินกลยุทธ์ อำนาจการยิง การพิทักษ์หน่วยและผู้นำ
ก. การดำเนินกลยุทธ์ หมายถึง การเคลื่อนย้ายกำลัง โดยมีการยิงสนับสนุนไปยังตำบลที่ได้เปรียบ ซึ่งสามารถทำลายหรือข่มขู่ที่จะทำลายข้าศึกได้ กำลังทหารราบ เคลื่อนที่เพื่อควบคุมตำบลที่ได้เปรียบเหนือข้าศึก และเพื่อครอบครองความได้เปรียบนั้นไว้ ทหารราบดำเนินกลยุทธ์ เพื่อเข้าตีทางปีก ทางด้านหลัง ตำบลส่งกำลังบำรุง และที่บังคับการของข้าศึกในการตั้งรับทหารราบดำเนินกลยุทธ์เพื่อตีโต้ตอบทางปีกด้านใดด้านหนึ่งของข้าศึก การดำเนินกลยุทธ์ที่มีการยิงสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะทำให้ทหารราบสามารถเข้าประชิดข้าศึก และได้ชัยชนะเด็ดขาดในการรบ
ข. อำนาจการยิง หมายถึง ความสามารถของหน่วยในการยิงไปยังที่หมายอย่างมี
ประสิทธิภาพ อำนาจการยิงสามารถสังหาร หรือกดข้าศึกให้อยู่ในที่มั่น ลวงข้าศึก และสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ ทหารราบย่อมไม่สามารถดำเนินกลยุทธ์ได้หากไม่มีการยิงสนับสนุนที่มี
ประสิทธิภาพ ก่อนที่หน่วยจะเริ่มดำเนินกลยุทธ์จะต้องจัดตั้งฐานยิงก่อน ฐานยิงจะต้องวางตำบลยิงไปยังกำลังหรือที่ตั้งของข้าศึก เพื่อลดหรือขจัดขีดความสามารถของข้าศึกที่จะรบกวนส่วนดำเนินยุทธ์ของฝ่ายเรา ผู้บังคับหน่วยต้องรู้วิธีควบคุมการยิง รวมอำนาจการยิงและผสมผสานการยิงกับการดำเนินกลยุทธ์ ทั้งยังต้องสามารถพิสูจน์ทราบที่หมายที่สำคัญเร่งด่วนสูงสุด ภายในเวลาที่รวดเร็ว สามารถอำนวยการยิงไปยังที่หมายเหล่านั้น ด้วยการยิงที่หนาแน่นเพียงพอจนข้าศึกไม่สามารถยิงตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องไม่มากเกินไปจนเกินความจำเป็น
ค. การพิทักษ์หน่วย หมายถึง
การดำรงรักษาศักยภาพในการต่อสู้ของกำลังรบเอาไว้ เพื่อที่จะให้พร้อมใช้ได้ทันที ณ
ตำบล และเวลาที่ต้องการรบแตกหัก
หน่วยจะต้องไม่ยอมให้ข้าศึกชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยที่ฝ่ายเราไม่คาดคิด หมวด
และหมู่ปืนเล็ก ต้องมีมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับที่จะป้องกันหน่วยจาก การจู่โจม
การตรวจการณ์ การตรวจจับ การรบกวน การจารกรรม การก่อวินาศกรรม
หรือการก่อกวนของข้าศึก ข้อพิจารณาพื้นฐานในการพิทักษ์หน่วยมีอยู่ ๒ ประการ
คือการดูแลเอาใจใส่ต่อตัวทหารเป็นบุคคล
กับการปฏิบัติการต่อต้านอำนาจกำลังรบของข้าศึก
๑) ข้อพิจารณาประการแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคที่จำเป็น สำหรับการดำรงสภาพความเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพของหมวดและหมู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การรักษาสุขภาพพลานามัยของทหาร เพื่อดำรงขวัญในการรบ โดยการดำเนินการอย่างเหมาะสมในเรื่อง สุขศาสตร์ทหาร การออกกำลังกาย และแผนการพักผ่อนควบคู่กับการดูแลรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีอยู่เสมอ รวมทั้งจัดให้มีและรักษาไว้ซึ่งสิ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังหมายถึงการจัดแผนการบรรทุกของทหารเป็นบุคคลอย่างเหมาะสม ให้ทหารบรรทุกสิ่งของติดตัวเฉพาะเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสภาพการรบเท่านั้น
๒) ข้อพิจารณาประการที่สอง เกี่ยวกับการระวังป้องกัน การกระจายกำลัง การกำบัง การซ่อนพราง การลวง และการยิงข่มอาวุธข้าศึก สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทหารราบต้องอยู่พ้นวิสัยการตรวจจับของฝ่ายข้าศึกให้ได้จึงจะอยู่รอดได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ทหารราบจะกลายเป้าหมายที่ล่อแหลมจากอำนาจการยิงของข้าศึกทุกชนิด และเมื่อตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายข้าศึกแล้ว ทหารราบจำเป็นต้องทำการรบแตกหัก หรือเข้าประชิดและทำลายข้าศึกซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ แต่สิ่งที่ทหารราบมีความมุ่งประสงค์อยู่ตลอดเวลาก็คือ การได้เป็นฝ่ายกำหนดตำบลและเวลาของการรบ ดังนั้นจึงต้องพิทักษ์หน่วยเอาไว้ จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดตำบลและเวลาของการรบได้แล้วเข้าทำการรบด้วยอำนาจกำลังรบสูงสุด และด้วยการจู่โจม
ง. ผู้นำ ผู้นำทางทหาร หมายถึงวิธีการที่ทหารชักจูงบุคคลอื่นปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ การใช้ลักษณะผู้นำที่ถูกต้องจะทำให้หน่วยสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการใช้ความเป็นผู้นำอย่างถูกต้องนั้น จะทำให้ทหารทุกคนทราบความมุ่งหมาย วิธีปฏิบัติ และมีแรงจูงใจ ในการปฏิบัติการรบ ผู้นำต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี เรื่องงานในอาชีพ ทหารในการบังคับบัญชาของตน และเครื่องมือรบ (tool of war) ผู้นำประเภทนี้เท่านั้น ที่จะสามารถทำให้ทหารเต็มใจปฏิบัติงานภายใต้สภาพอันตราย และสภาวะความกดดันได้
๑ - ๓ ทักษะของผู้นำ
ผู้บังคับหมวด และผู้บังคับหมู่ปืนเล็ก ต้องเป็นนักยุทธวิธี คือ ไม่ยึดติดอยู่กับตำราในการแก้ปัญหายุทธวิธีแต่ต้องมีความเข้าใจ และใช้ความริเริ่มในการปฏิบัติให้บรรลุภารกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรวดเร็ว และตกลงใจได้อย่างฉับพลัน ใช้เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาเป็นแนวทาง ทั้งยังต้องพร้อมที่จะปฏิบัติการเป็นอิสระโดยลำพังเมื่อจำเป็น ศิลปะในการตกลงใจได้อย่างถูกต้องในเวลาอันรวดเร็วนั้น ได้มาจากความรอบรู้ทางยุทธวิธี กรรมวิธีในการประมาณสถานการณ์ รวมทั้งเทคนิค และระเบียบปฏิบัติของหน่วยระดับหมวดและหมู่
ทักษะที่ผู้บังคับหน่วยทหารราบทุกคนจำเป็นต้องมีนั้น ประกอบไปด้วย ความแข็งแกร่งทาง ร่างกาย ความรอบรู้ทางเทคนิค ความมีจิตใจรุกรบ และความมั่นคงหนักแน่นที่จะสามารถจูงใจให้ทหารทำการรบอย่างมั่นใจ ในสภาวะการณ์ที่ยากลำบาก
๑ - ๔ ทักษะของทหาร
ประสิทธิภาพในการรบเป็นส่วนรวมของหมวดและหมู่ ย่อมเกิดจากการที่ทหารแต่ละคนได้รับการฝึกฝนอย่างหนักในเรื่องของการรบ ซึ่งประกอบด้วยความแข็งแกร่งทางสมรรถภาพร่างกาย ความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธของตนเอง และความช่ำชองในทักษะเฉพาะเหล่าของทหารราบ เช่นการใช้แผนที่ เข็มทิศ การพราง เทคนิคการเคลื่อนที่เป็นบุคคล เทคนิคการดำรงชีพ เทคนิคการอยู่รอดในสนามรบ และอื่นๆ และประการสุดท้ายคือ ทหารแต่ละคนจะตัองเข้าใจบทบาทของตนเองในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุดยิง หมู่ และหมวด และต้องสามารถปฏิบัติตามบทบาทนั้น ๆ ได้ อย่างถูกต้อง
๑ - ๕ การฝึก
หน่วยทหารราบ ต้องทำการฝึกอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับที่จะทำการรบ และต้องเป็นไปตามหลักนิยมของกองทัพบก โดยใช้คู่มือต่าง ๆ ที่ว่าด้วยหลักนิยมซึ่งจะทำให้ผู้บังคับหน่วยสามารถดำเนินการฝึกได้อย่างถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติและหลักการต่าง ๆ ของหลักนิยม ผู้บังคับหน่วยและทหารแต่ละคนต้องมีความเข้าใจในมาตรฐานการปฏิบัติตามหลักการต่าง ๆ ของหลักนิยมตามที่ปรากฏในคู่มือต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดี คู่มือที่ควรใช้สำหรับการฝึก คือ คู่มือการฝึกว่าด้วยการฝึกและประเมินผลการฝึกหมู่ปืนเล็กและหมวดปืนเล็กเหล่าทหารราบ (คฝ. ๗ - ๘) ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขและมาตรฐานเฉพาะสำหรับการฝึกปฏิบัติตามเทคนิค และระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในคู่มือนี้ ในการฝึกนั้นสิ่งที่ต้องการคือ ต้องทำให้ผู้บังคับหน่วยมีการใช้ความริเริ่มและตกลงใจอย่างรวดเร็ว สภาวะแวดล้อมในการฝึกต้องสมจริง และมีความกดดันจริงๆ นอกจากนี้ การฝึกต้องเป็นสิ่งที่ท้าทายทหารแต่ละคนที่จะแสดงออกถึงขีดความสามารถในงานของทหารราบทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างเต็มที่ ทั้งที่ต้องปฏิบัติเป็นบุคคลและที่เป็นหน่วย ทั้งยังต้องเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนใจทำให้ทหารราบทุกคนระลึกถึงภารกิจ ลักษณะของความเป็นทหารราบซึ่งสืบทอดต่อ ๆ กันมาเป็นเวลานาน รวมทั้งความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะต้องมีอยู่ในตัวทหารราบทุกคน การฝึกในระดับหมวดปืนเล็กนั้น จะต้องก่อให้เกิดผลในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายในหน่วยด้วย จนถึงขั้นที่ว่าแม้ทุกระบบล้มเหลว แต่หน่วยของตนจะต้องมุ่งมั่นต่อสู้จนถึงที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น